นักวิจัย มข.ค้นพบบึ้งแคระชนิดใหม่ของโลก “บึ้งคำแพง” จาก สปป.ลาว สานสัมพันธ์มิตรภาพสองฝั่งโขงในงานวิจัยระดับนานาชาติ

หลังประสบความสำเร็จจากการตีพิมพ์ “บึ้งประกายสายฟ้า” หรือ Electric blue tarantula เมื่อเดือนกันยายนปี 2567 โดย ผศ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และทีมวิจัย ล่าสุด สาขากีฏวิทยา และโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สร้างผลงานอีกครั้งเมื่อ นายปฏิภาณ ศรีรานันท์ พร้อมด้วยนายชวลิต ส่งแสงโชติ นักศึกษาระดับปริญญาโท ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาวิจัย นำมาสู่การค้นพบบึ้งแคระใหม่ของโลกที่มีชื่อว่า “บึ้งคำแพง” จากพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยจำปาสัก ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานาชาติ ZooKeys เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการรายงานการค้นพบ “บึ้งคำแพง” ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Phlogiellus และนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุลในการศึกษาบึ้งในสกุลนี้ โดยนำมาร่วมวิเคราะห์กับลักษณะทางสัณฐานวิทยาเพื่อการจำแนกชนิดอย่างแม่นยำ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ

ผศ.ดร.นรินทร์ และทีมวิจัย เปิดเผยว่า บึ้งแคระชนิดใหม่นี้มีลักษณะที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะในเพศเมียระยะโตเต็มวัยที่ตรวจพบในช่วงอุ้มถุงไข่ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเพศเมียทั่วไปในสกุลเดียวกันถึง 3 เท่า ภายในถุงไข่ยังพบตัวอ่อนเพียง 7 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบึ้งเพศเมียโดยทั่วไป

สำหรับลักษณะที่อยู่อาศัย ทีมวิจัยพบว่ารังของ “บึ้งคำแพง” มักอยู่ใกล้กับรังมดหรือจอมปลวก และภายในรังยังพบกองซากมดและปลวกจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งอาหารหลักของบึ้งแคระชนิดนี้ การใช้ชีวิตเช่นนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมการปรับตัวที่จำเพาะต่อสภาพแวดล้อม และยังเป็นข้อมูลใหม่ที่ช่วยเสริมความเข้าใจต่อระบบนิเวศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มาของชื่อ Phlogiellus khampheng Sriranan, Songsangchote & Chomphuphuang, 2025 นั้นมีความหมายลึกซึ้ง “คำแพง” เป็นคำในภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสานที่แปลว่า “ผู้เป็นที่รัก” หรือ “สิ่งอันมีค่า” โดยคณะผู้วิจัยตั้งใจใช้ชื่อนี้เพื่อสะท้อนมิตรภาพ ความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนักวิจัยจากไทยและลาว ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจในการสำรวจและศึกษาจนนำมาสู่การค้นพบที่ทรงคุณค่า ขณะเดียวกัน “คำแพง” นี้ยังถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ “คุณแม่คำแพง ชมภูพวง” มารดาผู้เป็นที่รักของ ผศ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อีกด้วย

ผศ.ดร.นรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหาพื้นที่ป่าธรรมชาติถูกทำลายจากหลายปัจจัย เช่น การรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมถึงการขยายตัวของเมือง และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง อาจมีผลทำให้เกิดการสูญเสียแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบได้ในพื้นที่นั้นเพียงพื้นที่เดียว (Endemic species) อาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นได้ บึ้งก็เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวซึ่งในธรรมชาติมีบทบาทเป็นทั้งนักล่าที่ช่วยควบคุมประชากรแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็ก และยังเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น ต่อแมงมุม  (wasp)

“เมื่อปัญหาดังกล่าวส่งผลให้จำนวนประชากรบึ้งในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว ระบบนิเวศในพื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นจึงควรวางแผนหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่าธรรมชาติเพื่อให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ยังคงมีแหล่งที่อยู่อาศัยต่อไป”

สำหรับการค้นพบ “บึ้งคำแพง” ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเพิ่มชื่อใหม่ในสารบบทางอนุกรมวิธานของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของพลังความร่วมมือข้ามพรมแดนไทย-ลาว ที่จะช่วยผลักดันให้การศึกษาทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง พร้อมสืบสานคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ (Q1): ZooKeys เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ฉบับที่ 1,247 โดยสามารถติดตามงานวิจัยได้ที่ https://zookeys.pensoft.net/article/155398/

Scroll to Top