คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อ “สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน” (ร้านยาคณะเภสัชศาสตร์) ได้รับรางวัล “เชิดชูเกียรติพลังขับเคลื่อน RDU ประเทศไทย” ในงานประชุมสัมมนาระดับชาติ “The First National on Rational Drug Use” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “RDU Empowering Thailand: เพราะทุกคน คือพลังขับเคลื่อนสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ระหว่างวันที่ 8–9 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวนิรัชรา ถวิลการ เภสัชกรประจำสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน เป็นผู้แทนเข้ารับมอบโล่รางวัลอันภาคภูมิใจในครั้งนี้
และในโอกาสเดียวกันนี้ นศภ. ชัชส์ เชิดฉาย และ นศภ. สุรเกียรติ แก้วกันหา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Rational Pharma Challenge 2025 เวทีประชันไอเดียระดับประเทศ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาที่พบในกรณีศึกษาเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชนที่ยั่งยืน” ได้เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
นศภ. ชัชส์ เชิดฉาย กล่าวว่า “การเรียนการสอนของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีส่วนอย่างมากในการช่วยให้คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศในครั้งนี้ เพราะมีโครงการเภสัชลองชุมชน พบกับประชาชน ประเมินจากชาวบ้านจริงในชุมชน ได้นำความรู้จากการลงพื้นที่จริงมาใช้ในการตอบคำถามอย่างแม่นยำและตรงจุด โดยกรรมการสังเกตและวิเคราะห์ได้ว่า นวัตกรรมส่งเสริมการทำงานของเภสัชจริง และช่วยให้ประเมินการใช้ยาของเภสัชแก่คนไข้แม่นยำ ตรงเคสมากขึ้น ไม่เพิ่มภาระงานเภสัช เภสัชอยากใช้งานระบบ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนจริง”
สำหรับการแข่งขันดังกล่าวร่วมกับทุกมหาวิทยาลัยคณะเภสัชศาสตร์ ทั่วประเทศทั้ง 21 มหาวิทยาลัย มีการแข่งขัน 2 รอบได้แก่ รอบสปีทเทสต์ คือการตอบคำถามแบบจับเวลา ใครตอบเร็วและถูกต้องได้คะแนนสูงสุด ซึ่งทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำคะแนนสูงสุดได้ในรอบนี้ ทำให้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ คือรอบของการแก้ไขโจทย์ปัญหา การนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ โดยกรรมการจะกำหนดสถานการณ์ปัญหากรณีตัวอย่างมา ให้ผู้เข้าแข่งขันแก้ไข
ทั้งนี้ทีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย นศภ. ชัชส์ เชิดฉาย และ นศภ. สุรเกียรติ แก้วกันหา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอแนวทางแก้ไขด้วยระบบนวัตกรรม 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบ RDU Point ระบบที่ช่วย supports เภสัชกรชุมชน ให้สามารถประเมินการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไปพร้อมกับการจ่ายในระบบ A-Med Care หรือที่ประชาชนรู้จักกันภายใต้โครงการร้านยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ทั้งหมดนี้ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเภสัชในการประเมินการใช้ยาได้เหมาะสมกับประชาชน นอกจากนี้ระบบยังเป็นมิตรกับเภสัชใช้งานง่ายตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคือเภสัชทั่วประเทศ
ระบบ HOSLAB ช่วยรวบรวมค่าทางห้องปฏิบัติการและรายการยาที่ผู้ป่วยใช้บริการในสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อให้เภสัชกรสามารถติดตามยา และพิจารณาจ่ายยาให้คนไข้ได้อย่างถูกต้อง เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่มาซื้อยา และสุดท้ายระบบ RDU Exam ส่งเสริมให้ประชานเกิด Active learning ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อให้ประชาชนหรือคนในชุมชนตระหนักถึงความอันตรายของการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล และเห็นถึงประโยชน์ในการใช้ยาที่สมเหตุผลมากขึ้น
ความสำเร็จนี้สะท้อนพันธกิจหลักของคณะฯ ในการผลิตบัณฑิตเภสัชกรที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการบริการวิชาการเพื่อสังคม ด้วยการเดินหน้าพัฒนาสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนให้เป็นต้นแบบที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป