นศ.เภสัชศาสตร์ มข. คว้า 2 รางวัล ISPE Hackathon 2025 โชว์ AI คัดเลือกเม็ดยา หนุนวงการเภสัชไทย

             นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลจากการแข่งขัน ISPE Thailand Hackathon 2025 ที่จัดขึ้นโดยองค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรมเภสัชกรรมระดับนานาชาติ เป็นเวทีแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นทีมได้แสดงไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือปฏิบัติจริง โดยมีการแบ่งกลุ่มทำ Hackathon และนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จัดขึ้น ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

          นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าร่วมโครงการ 2 คน ผลปรากฏ นางสาวปุณยาพร ขันโอ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 (คนที่ 3 จากซ้าย) สมาชิกการแข่งขันกลุ่มที่ 8 ได้รับรองชนะเลิศอันดับที่ 1 (1st Runner-up) เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อที่ ISPE Malaysia

           และนางสาวพัชราภา คำแท่ง นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 6 (คนที่ 3 จากซ้าย) สมาชิกการแข่งขันกลุ่มที่ 7 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 (2nd Runner-up) ร่วมกับเพื่อนักศึกษาเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 3 คน  

    

           นางสาวพัชราภา คำแท่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 6   คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยว่า เมื่อกรรมการให้โจทย์แก้สถานการณ์ปัญหาและกำหนดเคสที่จำเป็นต้องแก้ไข ตนจึงนำเสนอโครงงานวิจัย “การใช้ AI ในการตรวจสอบคุณภาพรูปทรงเม็ดยา”  เครื่องมือ AI ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างเม็ดยาในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการแพ็คยาที่มีขนาดแตกต่างหรือเสียหาย เนื่องจากผู้ป่วยไม่ควรนำยาที่บกพร่องไปใช้ เพราะจะทำให้การรักษาอาการไม่เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดขั้นตอนการทำงานของเภสัชในการคัดยาหรือแพ็คยา

        “ขั้นตอนการทำงานของเครื่องมือคือ เมื่อเม็ดยาตกลงในถาดรูปแบบต่างๆ ระบบ AI จะทำการดักจับเม็ดยาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีการบุบแตกสลายได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดภาระของเภสัชกรในชุมชน โรงพยาบาล และเภสัชทั่วประเทศ โดยเครื่องจะคัดแยกเม็ดยาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ออกมาโดยอัตโนมัติ กล้องและอัลกอริทึมที่ใช้ในเครื่องมือ AI นี้ได้รับการพัฒนามาจากงานวิจัยในชั้นเรียน ภายใต้การสนับสนุนและคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัยดังกล่าว”

           นางสาวพัชราภา ยังกล่าวต่ออีกว่า  “ในยุคปัจจุบัน AI มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้เอกสารในการบันทึกผลทางเภสัชศาสตร์หรือการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งการใช้เอกสารนั้นมักจะเกิดข้อผิดพลาดและเพิ่มงานให้กับเภสัชกรทั่วประเทศ ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนจากการใช้เอกสารมาเป็นข้อมูลในเทคโนโลยีสารสนเทศในยุค AI นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า AI ยังมีส่วนในการช่วยค้นพบยาใหม่ที่ปกติใช้เวลาหลายสิบปี แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ AI อาจจะค้นพบได้ในระยะเวลาเพียง 3-4 ปี ซึ่งจะลดการสูญเสียเวลาและลดต้นทุนในการผลิตยาอย่างมาก การประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมยาไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและควบคุมคุณภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพที่ทันสมัยและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น”

Scroll to Top