ศึกษาศาสตร์ มข. ขับเคลื่อน “KKUED AI Competency” ยกระดับครูสาธิตฯ สู่การเป็น ‘สถาปนิกการเรียนรู้’ ด้วยเครื่องมือ AI

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาสร้างการเปลี่ยนแปลง การสอน การเรียนรู้ แก่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านการดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “AI-Exploring Educator” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับทักษะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้แก่คณาจารย์ในทุกระดับ โดยมี “KKUED AI Competency” เป็นกรอบสมรรถนะหลักที่ถูกพัฒนาขึ้น (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2568)

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า “เป้าหมายสำคัญของเราคือการพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งเป็นหัวใจของการเป็นโรงเรียนต้นแบบ เราไม่ได้มุ่งหวังให้ครูเป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยีตามกระแส แต่ต้องการสร้างให้ครูของเราเป็น ‘สถาปนิกผู้ออกแบบการเรียนรู้’ ที่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียนได้อย่างแท้จริง กรอบสมรรถนะ KKUED AI Competency จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาครูใน 4 มิติหลัก เพื่อให้เกิดความสามารถที่รอบด้านและลึกซึ้งในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมออกแบบบรรยากาศในการเรียนรู้ในห้องเรียน”

4 มิติหลัก KKUED AI Competency ประกอบด้วย
มิติที่หนึ่ง : ความเข้าใจพื้นฐานและวิจารณญาณด้าน AI (AI Literacy & Understanding) ครูต้องรู้ว่า AI ทำงานอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร ไม่ใช่แค่รู้จักชื่อเครื่องมือ แต่ใช้เป็นและตั้งคำถามได้ เช่น รู้ว่า AI อาจสร้างข้อมูลเทียม และไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
มิติที่สอง : วิธีสอนที่ใช้ AI เสริมพลังการเรียนรู้ (AI-Enhanced Pedagogy) AI ไม่แทนครู แต่ช่วยออกแบบบทเรียน วิเคราะห์งาน หรือสร้างแบบฝึกเฉพาะบุคคลได้ ครูที่มีสมรรถนะนี้จะใช้ AI เพื่อยกระดับคุณภาพ ไม่ใช่แค่เพื่อประหยัดเวลา
มิติที่สาม : จริยธรรมและการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ (AI Ethics & Responsible Use) ครูต้องใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ไม่ส่งเสริมการลอกงาน ไม่ละเมิดข้อมูลของนักเรียน และเข้าใจหลักการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเหมาะสม
มิติที่สี่ : การเรียนรู้และเติบโตของครูร่วมกับ AI (AI Co-Creation & Growth) AI สามารถเป็นผู้ช่วยสะท้อนคิดให้ครู วิเคราะห์บทเรียน ตั้งคำถามใหม่ และช่วยออกแบบการสอนจากมุมมองหลากหลาย เพื่อให้ครูพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง

โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ก็จะมีกรอบสมรรถนะเป็นพื้นฐานในการอบรมให้แก่คณาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นในทุกระดับ ซึ่งได้ลงมือเรียนรู้ สร้างสรรค์สื่อการสอน การทดลองด้วยตนเอง โดยใช้ เครื่องมือช่วยพัฒนาสื่อการสอนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-powered Teaching Material Development Tools) ที่คณะฯ พัฒนาขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการฝึก สร้างชุดคำสั่ง (Prompt Engineering), สร้างรูปภาพและวิดีโอ (Image & Video Generation) ประกอบการสอน ไปจนถึงออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ AI โครงการนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้แก่คณาจารย์ แต่ยังเป็นการตอกย้ำบทบาทของ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับนวัตกรรมการศึกษา ซึ่งองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จะถูกนำไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและขยายผลสู่สถานศึกษาในเขตพื้นที่ต่อไป

 

Scroll to Top