เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 2025 KNUE-KKU UNITWIN Teacher Training Program for Quality Teacher Education ภายใต้หัวข้อ “AI for Teachers: Transforming Classrooms for the Future” โดยมี อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย Prof. Dr. Younghoon Kim ผู้อำนวยการโครงการ UNESCO UNITWIN จาก Korea National University of Education และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกาวเดือน ซาธรรม รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมงาน ในการนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย รวมถึงครูและผู้เข้าร่วมอบรมเข้าร่วมงาน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การจัดอบรมครั้งนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง Korea National University of Education (KNUE) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ภายใต้กรอบของ UNESCO UNITWIN Program โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการเรียนรู้ และปรับบทบาทให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในศตวรรษที่ 21
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568-2571 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูงในระดับนานาชาติ การขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม รวมถึงการยกระดับบทบาทของมหาวิทยาลัยในเวทีสากล “โครงการนี้ไม่ใช่เพียงเวทีของการอบรม แต่คือเวทีแห่งความร่วมมือ การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และการเตรียมความพร้อมของครูในศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ มข. ในหลายด้าน”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ นักวิจัยสมรรถนะสูง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน เผยว่า การจัดโครงการในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่าง KNUE และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้กรอบของ UNITWIN Program ที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การ UNESCO “การบูรณาการเนื้อหาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์เข้ากับการพัฒนาวิชาชีพครู ผ่านการบรรยายและ workshop ที่เข้มข้นตลอดระยะเวลา 3 วัน ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ทันต่อยุคปัจจุบัน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาเครือข่ายวิชาชีพอย่างยั่งยืน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกาวเดือน ซาธรรม รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า โครงการนี้มีเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งจาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย Korea National University of Education, Universitas Pendidikan Indonesia, Souphanouvong University ประเทศลาว, Vietnam National University – University of Education, มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และ University of the Philippines
“โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันเป็นเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและพัฒนาวิชาชีพครูทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับ SDG 17 และ SDG 4 ของสหประชาชาติ”
สำหรับการอบรมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2568 มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “Mathematical Thinking as a Foundation for AI in the Teacher Training Program” “ORANGE Software for Educational Applications” “Teachers Who Research with AI: Designing the Future of Mathematics Education” “AI-Powered Scientific Visualization: Turning Complex Concepts into Clear Classroom Images” “AI and Teachers’ Decision-Making: Defining the Boundaries of Appropriate Use” และการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Scanimation Unplugged Coding” และ “Language for AI : Prompt to be prompt” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย