คณะนิติฯ มข. จัดประชุมวิชาการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักวิชาการทั่วประเทศครอบคลุมหลากหลายศาสตร์ มุ่งสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างยั่งยืน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการระดับชาติ “การบูรณาการเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างยั่งยืน”เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักวิชาการทั่วประเทศกว่า 30 ผลงาน ครอบคลุมหลากหลายศาสตร์

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดจัด การประชุมวิชาการระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ“การบูรณาการเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างยั่งยืน: ความท้าทายด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และนวัตกรรม”ระหว่างวันที่ 3–4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ในโอกาสครบรอบ 19 ปีแห่งการสถาปนาคณะนิติศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ทางวิชาการสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และภาคีเครือข่าย ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ณ ห้องประชุมทองใบทองเปาด์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          รศ.วนิดา แสงสารพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งสำคัญนี้ได้รวบรวมนักวิชาการจากทั่วประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 30 ผลงาน โดยครอบคลุมสาขาวิชาการหลากหลาย ตั้งแต่นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ไปจนถึงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี  พร้อมทั้งมีนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายสำคัญ อาทิ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์พิสูจน์หลักฐานภาค 4  โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสถาบันอุดมศึกษาไทยในการบูรณาการความรู้ข้ามสาขาวิชา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมและสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืนในอนาคต

        งานประชุมครั้งนี้เปิดฉากด้วยการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบูรณาการเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างยั่งยืน: ความท้าทายด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

         รวมทั้งการจัดเวทีเสวนาวิชาการ 4 หัวข้อสำคัญ ที่นำเสนอโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางกฎหมายในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสังคมในยุคดิจิทัล, การใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กรอบ BCG และ ESG, นวัตกรรมทางสังคมและกฎหมายเพื่อก้าวสู่สังคมที่เป็นธรรม และการสร้างระบบนิเวศน์ใหม่สู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

       นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมพื้นที่ทางปัญญาสำหรับเยาวชนขึ้น โดยเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัยชุมชนระหว่างนักวิจัยและนักศึกษาจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

  •  

การประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทางวิชาการและองค์กรพันธมิตร ได้แก่

  • คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  • สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
  • สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย
  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • และ International Center for Academic Integrity (ICAI)

รองศาสตราจารย์ ดร.วนิดา แสงสารพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า “การประชุมครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ แต่ยังเป็นพื้นที่สื่อสารเชิงนโยบายที่สำคัญ เพื่อเชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และนำไปสู่การออกแบบระบบกฎหมายและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพลวัตของสังคมไทยและโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน”

Scroll to Top