คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ปิดหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลผดุงครรภ์จาก สปป.ลาว 12 แขวง เสริมทักษะดูแลแม่และเด็กอย่างปลอดภัย มุ่งพัฒนาระบบสุขภาพอาเซียน หนุนเป้าหมาย SDG ยกระดับผดุงครรภ์ลาว อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency : TICA) จัดพิธีปิดโครงการฝึกอบรมระยะสั้นหลักสูตร “Midwifery Training Making Motherhood Safer: Strengthening Midwives’ Competencies for Safe Motherhood in Lao PDR” ณ ห้องประชุมศรีกาลพฤกษ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรวิทย์ พลพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรม จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นบุคลากรด้านสุขภาพจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เข้าร่วมอบรม อย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรวิทย์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีที่การฝึกอบรมระยะสั้นครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้นำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบท ของหน่วยงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในงานด้านแม่และเด็ก ช่วยการลดอัตราการตายของแม่และเด็ก ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้อัตราการตายของมารดาไม่เกิน 70 ต่อการเกิดชีพหนึ่งแสนราย ภายในปี พ.ศ. 2573
นอกจากนั้น การจัดอบรมครั้งนี้ยังเป็นการแสดงถึงสายสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ สปป.ลาว ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุตร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของพยาบาลผดุงครรภ์จาก 12 แขวง ของ สปป.ลาว ได้แก่ หลวงพระบาง ไซยะบุลี หัวพัน เชียงขวาง อุดมไซ หลวงน้ำทา บ่อแก้ว เวียงจันทน์ คำม่วน สะหวันนะเขต สาละวัน และจำปาสัก โดยเน้นการยกระดับความรู้และทักษะด้านการดูแลสุขภาพแม่และเด็กอย่างปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “Save Motherhood”
ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาทิ การรับคลอดอย่างปลอดภัย การจัดการภาวะแทรกซ้อนเบื้องต้น การดูแลทารกแรกเกิด การสื่อสารทางวิชาชีพ และการส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของคณะพยาบาลศาสตร์ มข.
โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทย–ลาว ที่ไม่เพียงพัฒนาศักยภาพพยาบาลผดุงครรภ์ แต่ยังร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนให้มีความปลอดภัย ยั่งยืน และเท่าเทียมยิ่งขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG 3) ในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในทุกช่วงวัย
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ข้อมูล ภาพ : คณะพยาบาลศาสตร์