มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดตัว “แพลตฟอร์มตรวจสอบย้อนกลับและตรวจการปลอมแปลงเอกสารสำคัญทางการศึกษาแบบดิจิทัล” สำหรับตรวจสอบใบ ปพ.1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีระบบตรวจสอบเอกสารการศึกษาแบบดิจิทัลที่ช่วยลดระยะเวลาจาก 3-6 เดือน เหลือเพียง 1 เดือน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 753 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ปพ.1 ซึ่งเป็น เอกสารระเบียนแสดงผลการเรียน (Transcript) เป็นเอกสารบันทึกผลการเรียนตามสาระการเรียนรู้กลุ่มวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ใช้เป็นหลักฐานในการสมัครเข้าศึกษาต่อ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Digital Signature, XAdES, PDF/A-3 และมาตรฐาน XML ซึ่งสามารถตรวจจับการแก้ไขเอกสารได้แบบเรียลไทม์ ระบบนี้สร้าง Digital ID ภายใต้ “Thai School Consortium” ให้กับครูและอาจารย์ที่มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และเชื่อมต่อกับกรมการปกครอง (ThaID) เพื่อยืนยันตัวตนของนายทะเบียนโรงเรียน ทำให้เอกสารมีความน่าเชื่อถือสูงสุด

รศ.ดร.วรารัตน์ สงฆ์แป้น รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ในปีงบประมาณ 2567 โดยมีคณะผู้ร่วมโครงการประกอบด้วย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล, ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ สายพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ, และ รศ.ดร.วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
จุดเด่นสำคัญของแพลตฟอร์มนี้คือการปฏิวัติกระบวนการทำงานแบบเดิมที่ต้องใช้หนังสือราชการส่งข้ามหน่วยงาน ซึ่งเคยใช้เวลานาน 3-6 เดือน ให้ลดเหลือเพียงประมาณ 1 เดือน สำหรับการตรวจสอบนักเรียนราว 8,500 คน ไม่เพียงแต่รวดเร็วและปลอดภัย แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงที่เอกสาร ปพ.1 จะสูญหาย หรือเกิดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบในระหว่างกระบวนการตรวจสอบ ที่สำคัญคือสามารถตรวจพบการปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลได้ทันที สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย
![]() |
![]() |
ผลการดำเนินงานตลอดโครงการถือว่าประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย จากเป้าหมายนำร่อง 100 โรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการและใช้งานจริงแล้วถึง 753 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยสัดส่วนการใช้งานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 66%, ภาคกลาง 15.9%, ภาคเหนือ 7.7%, ภาคตะวันออก 4.2%, ภาคใต้ 4% และภาคตะวันตก 2.1% ผู้ใช้งานหลักประกอบด้วย ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนมัธยมศึกษา, เจ้าหน้าที่ทะเบียนและประวัตินักศึกษาของมหาวิทยาลัย, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับเข้าศึกษา และนักเรียนที่ใช้เอกสาร ปพ.1 ในการสมัครเรียนต่อ
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแผนพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะขยายผลสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายทะเบียนศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น การเชื่อมต่อข้อมูลที่ละเอียดขึ้นกับฐานข้อมูลโรงเรียนเพื่อป้องกันการแก้ไขในรายละเอียดอื่น, การเชื่อมต่อกับระบบรับเข้าของมหาวิทยาลัยอื่นๆ และการปรับปรุงกระบวนการให้ครูอาจารย์ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น
“แพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการตรวจสอบคุณวุฒิระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของประเทศไทย แต่ยังเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร สร้างความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบแบบครบวงจรในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง” รศ.ดร.วรารัตน์ กล่าว
ข่าว: เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ: สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มข.