วันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00-14.00 น. หน่วยปฐมภูมิ 123 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับงานแนะแนวและทุนการศึกษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสุขภาพจิต “Heal ใจ ยิ้มได้ก่อนใจพัง” ให้กับอาจารย์และบุคลากร เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น ณ ห้องประชุมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยม (มอดินแดง)
ทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการอบรมครั้งนี้ นำโดย รศ.พญ.วริสรา ลุวีระ ประธานหลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว พร้อมด้วย ผศ.นพ.พรรษ โนนจุ้ย และ อ.นพ.ธนกิจ รุ่งเรืองรัตนกุล อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว สาขาวิชาเวชศาสตร์ชุมชน เวชศาสตร์ครอบครัวและอาชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้ง อ.พญ.ธนาพร แสงพงศานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีวิทยากรร่วมคือ พว.สะอาด โนราบุตร หัวหน้าหน่วยบริการปฐมภูมิ 123 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ว่าที่ ร.ต.วรวุฒิ สันประภา หัวหน้างานแนะแนวโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยม
พิธีเปิดกิจกรรม ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมี อาจารย์ ว่าที่ ร.ต.วรวุฒิ สันประภา บรรยายการเชื่อมโยงกิจกรรมในการดูแลนักเรียนในโรงเรียน ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของ Primary Care ในการดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น” จากประสบการณ์การดูแลนักศึกษามหาวิทยาลัยสู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา โดยทีมวิทยากรจาก PCU 123 แบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสู่โรงเรียนมัธยม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน
จากนั้น อ.พญ.ธนาพร แสงพงศานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยาย ในเรื่อง “สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น และเครื่องมือคัดกรองสุขภาพจิตในวัยรุ่นสำหรับโรงเรียนมัธยม” ซึ่งเป็นการให้ความรู้และความเข้าใจในการตรวจสอบและดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีการจัดกิจกรรมกลุ่ม แบ่งออกเป็นสามฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1: การสื่อสารเชิงบวกกับวัยรุ่น นำโดย รศ.พญ.วริสรา ลุวีระ ฐานที่ 2: ทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้น นำโดย ผศ.นพ.พรรษ โนนจุ้ย และ ฐานที่ 3: การเดินทางสู่การเข้าใจตนเองและนักเรียนด้วย Satir Model นำโดย อ.นพ.ธนกิจ รุ่งเรืองรัตนกุล โดยในแต่ละฐานจะเน้นการฝึกปฏิบัติและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างทักษะในการสื่อสารและการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครูและนักเรียนในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเปิดใจรับฟังกันอย่างมีความเข้าใจ ก่อนที่จะสรุปกิจกรรมและสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน
การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง หน่วยบริการปฐมภูมิ 123 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ และ งานแนะแนวและทุนการศึกษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) นับเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการคัดกรอง และดูแลสุขภาพจิตของนักเรียน เป็นสังคมที่สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาการความเข้มแข็งทางจิตใจ ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในการเผชิญกับปัญหาอย่างมีสติ ในยุคที่เยาวชนต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย ทั้งด้านการเรียน การปรับตัวในสังคม และปัญหาส่วนบุคคล ช่วยให้เยาวชนสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างมั่นคง
กิจกรรมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และสาขาวิชาต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน