มข. เปิดบ้านต้อนรับคณะเยี่ยมชม โครงการ BSF เสริมความเข้มแข็งชุมชนและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน พร้อมด้วย รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับคณะอนุกรรมการ ผู้บริหารและบุคลากรจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) นำโดย นายชวลิต ชูขจร ประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วย นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองประธานอนุกรรมการฯ รวมถึงคณะผู้บริหาร และบุคลากรจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.ธนิต ชังถาวร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)  ในโอกาสเยี่ยมชม “โครงการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF” ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารแก่นกัลปพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน

ในการนี้ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและ บุคลากร พร้อมกันนี้ได้บรรยายภาพรวมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเน้นบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและสังคม (Community Support)  รวมทั้งการขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม  

ดร.ธนิต ชังถาวร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)

หลังจากนั้น เป็นการสรุปผลการดำเนินงาน “โครงการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF” ระดับชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สวก. โดย ดร.ธนิต ชังถาวร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) 

ดร.ชุตินันท์ ชูสาย ผู้จัดการหมวดแมลงอุตสาหกรรม

ต่อมา คณะผู้ศึกษาดูงานได้เดินทางไปเยี่ยมชม โรงเรือนต้นแบบการวิจัยและการผลิตแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ณ หมวดแมลงอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.ชุตินันท์ ชูสาย ผู้จัดการหมวดแมลงอุตสาหกรรม และ ผศ.ดร.ทัศนีย์ แจ่มจรรณยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา ได้นำเสนอข้อมูลการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน Black Soldier Fly (BSF) และประโยชน์ของแมลงโปรตีน BSF ในการจัดการขยะอินทรีย์และการแปรรูปเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียทางการเกษตร อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“จุดเด่นของแมลง BSF ไม่เพียงอยู่ที่ความสามารถในการลดปริมาณขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำไปใช้ในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรซ้ำและการลดของเสีย”  

โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมในหลายด้าน ได้แก่ SDG 2 ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร, SDG 11 เมืองและชุมชนยั่งยืน, SDG 12 การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน, SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่ครอบคลุมทั้ง 5 มิติ  

“มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อสังคม” 

นายชวลิต ชูขจร ประธานอนุกรรมการฯ  

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองประธานอนุกรรมการฯ

 

ภาพ/ข่าว : ฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

Scroll to Top