มอง “วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๕๖๖” ผ่านมุม “อาจารย์ภาษาไทย มข.” ในวันที่โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ภาษาเปลี่ยน
๒๙ กรกฎาคม ถูกกำหนดให้เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาประจำชาติ และประเด็นที่วนกลับมาถกถามกันเสมอในทุกปี คงหนีไม่พ้นคำศัพท์ใหม่ ๆ หรือ ภาษาวัยรุ่นต่าง ๆ กับการอนุรักษ์ภาษาไทยดั้งเดิมให้คงอยู่ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา กรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และครูภาษาไทยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา มองว่า เมื่อก่อนมักจะพูดกันว่าคำที่เกิดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่ มีอายุไม่นาน เมื่อความนิยมใช้ซาลง ก็จะหายไปเอง แต่หลัง ๆ มานี้ ราชบัณฑิตฯ ได้พยายาม “เก็บ” คำเหล่านี้ รวบรวมต่างหากจากพจนานุกรมเล่มหลัก เรียกว่า “พจนานุกรมคำใหม่” “การสร้างคำใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ควรตั้งแง่มองในเชิงลบ แต่ควรเปิดใจยอมรับว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงปรีชาญาณทางภาษาของคนไทย” ข้อคิดของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวรรณกรรม เรื่อง สี่แผ่นดิน ที่ว่า “ของทุกอย่างย่อมเคลื่อนคล้อยไปตามวันเวลา ไม่มีใครจะเร่งหรือหยุดเวลาได้” น่าจะใช้เป็นคำปลอบใจประเด็น “คำใหม่เกิดขึ้น คำเก่าไม่มีคนใช้” ที่กังวลกันได้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน หากจะถามถึงความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติที่บางคนอาจจะหลงลืมหรือไม่ทราบ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ก็มองเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากวันภาษาไทยแห่งชาติ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒๐ กว่าปีมานี้ และไม่ใช่วันหยุดประจำปี […]