สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เริ่มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบางพื้นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จนทำให้รัฐบาลมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง ทั้งการขอความร่วมมือทำงานที่บ้าน (Work From Home) การงดเก็บค่าเดินทางเพื่อให้ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมไปถึงการขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง ซึ่งปัญหาการเผานี้นับเป็นอีกปัจจัยที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะการเผาอ้อยของเกษตรกรที่แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาแต่ก็ยังพบเห็นอย่างต่อเนื่อง รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชวนมาหาคำตอบถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเผาอ้อยแม้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในช่วงวิกฤต รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเผาอ้อยว่า สาเหตุสำคัญมาจากค่าจ้างแรงงานตัดอ้อยสดกับอ้อยเผาต่างกันถึง 3 เท่า กลายเป็นต้นทุนให้เจ้าของไร่ต้องตัดสินใจเลือกการเผาเป็นทางออก และหากไม่เผาอ้อยคนงานบางส่วนก็ไม่ยอมตัดอ้อยเพราะมีทั้งหมามุ่ยและใบอ้อยรวมถึงขนอ้อยอาจทำให้บาดเจ็บและใช้เวลาตัดนานกว่าด้วย ขณะที่เจ้าของแปลงเล็ก ๆ ที่ไม่มีทั้งแรงงานและรถตัดอ้อยก็จำเป็นต้องขายเหมาแปลงให้รายใหญ่เข้ามาจัดการ ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองและบางครั้งหากไม่ยินยอมก็จะถูกลักลอบจุดไฟเผา และเมื่ออ้อยถูกเผาแล้วต้องรีบตัดเพื่อไม่ให้เน่าก่อนส่งไปโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับไร่อ้อยที่ต้องการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนก็ต้องเผชิญกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งลักษณะของอ้อยซึ่งเป็นพืชที่โตเป็นกอ ทำให้ต้องตัดโคนและแยกใบออกจากลำ ก่อนจะสับและเป่าแยกใบหลายรอบ จึงจำเป็นต้องใช้รถตัดอ้อยใหญ่ที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาท ส่วนรุ่นกลาง ๆ หรือมือสองอยู่ที่ 5-6 ล้านบาท และมาพร้อมข้อจำกัดที่ทำให้การตัดอ้อยช้าลง ยังไม่รับรวมปัญหาทั้งการติดหล่มทราย หล่มโคลน หรือเมื่อตัดแล้วยังต้องทยอยนำอ้อยมาใส่รถบรรทุกที่จอดนอกแปลงจนกว่าจะมีพื้นที่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปขนาบรถตัดอ้อยได้ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต้องเพิ่มทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรอีกนับไม่ถ้วน