KKU points out that the new graduates' output is increasing in quantity and high quality, accelerating to meet the demands of the global workforce, in line with the policies of the Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation.

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08:30 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)  พร้อม คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา  รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ในงาน โครงการติดตามความก้าวหน้า “โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ณ ห้อง 4A1-3 Smart Classroom ชั้น 4 อาคารรัตนพิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ ๕ณาจารย์ ร่วมงานกว่า 50 คน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัด

รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

         รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับคณะติดตามโครงการ ฯ ว่า  โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0” ในวันนี้    ซึ่งโครงการต้องการสร้างฐานการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคตโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิตและสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอนสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคนและการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดเป็นนโยบายการผลิตบัณฑิต พ.ศ. 2565 – 2569 และยุทธศาสตร์ด้านการปรับเปลี่ยนการศึกษา (Education transformation)

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

          ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่า มีการประมาณการคนทั้งโลกจากนักคิดแนวอนาคตวิทยา (futurist) ว่า ในอนาคตประมาณ 30-40 ปี ประชากรจะเหลือเพียงครึ่งเดียวหากเทียบกับปัจจุบัน โดยสามารถอธิบายโดยใช้การเปรียบเทียบอย่างง่ายคือ การมองจากครอบครัวของตนเอง ในแต่ละยุคสมัย  สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาของประเทศในสถาณการณ์ที่ประชากรกำลังลดลงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทำให้การศึกษาต้องมีการปรับปรุงให้มีรูปแบบที่กระชับมากขึ้น หรืออาจจะต้องมีการเพิ่มหลักสูตรแบบ Non-Degree ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อการใช้งาน และกลุ่มคนที่ยังสามารถทำงานได้แต่มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะนำองค์ความรู้มาพัฒนาประเทศ และโลก

“ ปัจจุบัน การเรียนรู้ อาจจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ คนยุคนี้ มักต้องการทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ ภายใต้องค์ความรู้ที่กระชับ รวดเร็ว เข้าใจง่าย และสามารถใช้ในการทำงานได้ทันที ซึ่งนโยบายของอว. มีความพยายามที่จะปรับปรุง จึงได้ทำระบบการเรียนที่มีความกระชับมากขึ้น ตรงกับความต้องการของผู้เข้าเรียนมากขึ้น ขณะที่ต้องรักษาคุณภาพของนักศึกษาไว้อยู่ ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มเอกชน ร่วมออกแบบหลักสูตรและทำข้อสัญญาการรับนักศึกษาเข้าทำงานกับเอกชนได้ พร้อมกับวางรากฐานทักษะ ความอดทน ความรับผิดชอบ และการปรับตัว สำหรับนักศึกษาที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยี อว. เป็นองค์กรแนวหน้าที่ต้องพัฒนาตนเองก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาและประชาชน จากมุมมองของกระทรวง ทำให้เราต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้โครงการต่าง ๆ และนโยบายต่าง ๆ ได้มุ่งเน้นให้พัฒนา นักศึกษา องค์กร ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง”  ดร.ดนุช กล่าว


 ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 8 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรประเภท Degree จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์  หลักสูตรประเภท Non-degree จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ .หลักสูตรเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืชสมัยใหม่ คณะเกษตรศาสตร์  หลักสูตรเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยี หลักสูตรการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยี  หลักสูตรระบบการผลิตแบบอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คณะเทคโนโลยี   หลักสูตรโครงการเพิ่มทักษะการคิดชั้นสูงทางคณิตศาสตร์ (Higher-order Thing in Mathematics) สำหรับกลุ่มทางด้านมนุษยศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน  และ หลักสูตรพลิกโฉมการดูแลสุขภาพด้วยแนวคิดดิจิทัล คณะเทคนิคการแพทย์

       รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ เผยถึงผลการดำเนินงาน โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณ การเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนี้  จำนวนหลักสูตรที่ยื่นข้อเสนอทั้ง Degree และ  Non – Degree เพิ่มขึ้น  แบ่งเป็น จำนวนหลักสูตรที่ยื่นข้อเสนอเทียบกับหลักสูตรปริญญาตรี ร้อยละ 18  จำนวนหลักสูตร  Non – Degree เทียบกับหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต ของ มข. 57 ต่อ 22  จำนวนหลักสูตรที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.26  ด้าน การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ สร้างความตระหนักให้กับหลักสูตรต่าง  ๆ จำนวน 311 หลักสูตรของ มข. ที่จะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร ให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ หรือการพัฒนากำลังคนขั้นสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ  ทั้งยังสร้างความตระหนัก เรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อการผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนให้มีการเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและระหว่างมหาวิทยาลัย จากการได้รับโอกาสเป็นพี่เลี้ยงโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย

ข่าว : จิราพร ประทุมชัย / สหัสวรรษ เซียวศิริกุล

ภาพ : สหัสวรรษ เซียวศิริกุล

KKU reports increase of new-generation graduates with high qualifications for the world market – a response to MHESI policy

https://www.kku.ac.th/12618

Scroll to Top