The Faculty of Education joins hands with the Office of the Basic Education Commission, Khon Kaen Area 5, to organize an exhibition of Best Practices of model schools under the cooperation to develop an educational quality assurance system for sustainability.

29 มีนาคม 2568 – สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุม Symposium นำเสนอผลงานการดำเนินงาน Best Practice และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนารูปแบบองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (Organization of Excellence Education Quality Assurance: OEQA) ณ ห้องประชุมหลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 โดยรับเกียรติจาก นายสุระศักดิ์ เพียสุระ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 เป็นประธานกล่าวเปิดงานและมอบโล่รางวัล พร้อมด้วย นายธรัตพนธ์ วิทย์บุญประคม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วายุ กาญจนศร รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและองค์กรสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ และ รศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมสรุปผลการดำเนินงานโครงการ

ความสำคัญของระบบประกันคุณภาพสู่ความยั่งยืน นายสุระศักดิ์ เพียสุระ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 กล่าวในพิธีเปิดว่า “งานประกันคุณภาพการศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสถานศึกษา การจัดงานครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของเรา ผมขอขอบคุณคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกท่าน ที่ได้เสียสละเวลา ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ลงพื้นที่ขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับครูและผู้บริหารของเราอย่างใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม” ด้าน นายธรัตพนธ์ วิทย์บุญประคม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 กล่าวรายงานว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ “โครงการส่งเสริมการประกันคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2568” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้มีความเข้มแข็งสู่ความเป็นเลิศ สอดรับกับนโยบายของ สพฐ. และเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. โดยมีผู้เข้าร่วม 198 คน ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และคณาจารย์

ความร่วมมือสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา รศ.ดร.วายุ กาญจนศร รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและองค์กรสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “คณะศึกษาศาสตร์มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะฯ เราตระหนักดีว่า คุณครูคือบุคลากรสำคัญที่สุด เปรียบเสมือนหัวใจในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง ร่วมกับผู้บริหารและชุมชน คณะฯ พร้อมให้การสนับสนุนการนำผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ไปต่อยอด และยินดีขยายผลความสำเร็จไปยังเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ที่สนใจ”

กลไกการขับเคลื่อนระบบประกันคุณภาพสู่ความยั่งยืน รศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบการประกันคุณภาพภายในอย่างยั่งยืนสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามทิศทางการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 และเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้พร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน” “จากการดำเนินงาน เราได้เห็นสถานศึกษาต้นแบบด้านการประกันคุณภาพการศึกษา จำนวน 10 โรงเรียนของ สพป.ขอนแก่น เขต 5 ที่เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่การเป็นสถานศึกษาคุณภาพ ผู้เรียนคุณภาพ และครูคุณภาพ นอกจากนี้ ยังเกิดการส่งเสริมและพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาผ่านกระบวนการนิเทศร่วมกันทุกเครือข่าย และเกิดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศหรือ Best Practice ด้านประกันคุณภาพการศึกษา” รศ.ดร.จตุภูมิ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านความยั่งยืนของระบบประกันคุณภาพการศึกษา รศ.ดร.จตุภูมิ สรุปว่า “เราพบว่าผู้บริหารสถานศึกษาได้แสดงภาวะผู้นำทางวิชาการ โดยสร้างทีมงานคุณภาพที่สามารถบริหารจัดการ กระตุ้น และหนุนเสริมให้ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมในการ คิด นำ และขับเคลื่อนระบบการประกันคุณภาพภายในให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีคุณภาพโดยใช้กระบวนการ PDCA อย่างต่อเนื่องในทุกคนและในทุกงาน และมีการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC และโรงเรียนแห่งการเรียนรู้หรือ SLC ที่แท้จริง สถานศึกษาได้รับความร่วมมือในการบริหารจัดการคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง และเกิดเครือข่ายความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างคณะศึกษาศาสตร์และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ความยั่งยืน และพัฒนาโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมด้านการประกันคุณภาพการศึกษา

Scroll to Top