Open the door to experience! Volunteer camp of the Humanities-Social Sciences Network of 6 Institutes, join in community development, experience local wisdom, and enjoy impressive relationship-building activities in Ayutthaya.

เมื่อวันที่ 15-22 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางเข้าร่วมโครงการสานสัมพันธ์เครือข่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 6 สถาบัน (ค่าย 6 สถาบัน) ครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนนครหลวง (พิบูลประเสริฐวิทย์) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เป็นเจ้าภาพ

สำหรับการจัดค่าย 6 สถาบัน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของคณะวิชา ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีเครือข่ายความร่วมมือประกอบด้วยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยเป็นการจัดค่ายอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนานิสิตนักศึกษา เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำกิจกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งเพื่อให้นิสิตนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐาน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนิสิตนักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมในต่างภูมิภาค

กิจกรรมค่ายในปีนี้ประกอบด้วย กิจกรรมฐานวิชาการและนันทนาการร่วมกับนักเรียน (การวาดภาพระบายสี หาคำศัพท์ภาษาอังกฤษ และกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการการเรียนรู้ให้กับนักเรียน) กิจกรรมฐานบำเพ็ญประโยชน์และพัฒนาภายในโรงเรียน (การวาดภาพในผนังอาคารเรียน ทาสีกำแพงโรงเรียน การเพ้นท์สีในผืนผ้า และทำความสะอาดภายในโรงเรียน) กิจกรรมฐานสวัสดิการ (การประกอบอาหารให้กับชาวค่ายได้รับประทาน โดยได้รับความอนุเคราะห์ จากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นผู้ประกอบอาหารในทุกมื้อ และมีนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันเป็นผู้ช่วย) และกิจกรรมการลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ชุมชน โดยนิสิตนักศึกษาแต่ละกลุ่มได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อเรียนรู้การทำขนมกระยาสารท ขนมกง และกิจกรรม ที่เป็นไฮไลท์สำคัญ คือการเยี่ยมชม “การตีมีดอรัญญิก” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งความโดดเด่นของมีดอรัญญิกอยู่ที่ความคงทนถาวรและรูปร่างสวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และได้รับการ ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ ในแต่ละวันยังมีกิจกรรมนันทนาการสลับหมุนเวียนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกชาวค่ายได้ทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างสถาบัน ฝึกความเป็นผู้นำและกล้าแสดงออก ผ่านกิจกรรม การแข่งขันกีฬาสี กิจกรรมล่องเรือชมเกาะเมืองอยุธยา รวมถึงการทัศนศึกษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และวัดสำคัญต่าง ๆ  ได้แก่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดไชยวัฒนาราม ศาสนสถานที่ยังคงมีความงดงามทางสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้นิสิตนักศึกษาได้ “สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับอยุธยา เมืองที่มีความสำคัญในฐานะราชธานีเก่าของไทยอายุ 417 ปี ซึ่งถือว่าเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ. 2534"

ศิวัฒน์ ศรีหารักษา (คิว) นักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษา Faculty of Humanities and Social Sciences กล่าวว่า “ค่าย 6 สถาบัน ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญสำหรับนิสิตนักศึกษา จากทั้ง 6 สถาบัน เพราะเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราได้มาพบปะ สานสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายร่วมกัน ผ่านกิจกรรม อันหลากหลายที่จัดขึ้นในค่ายนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างมิตรภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง และความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย สิ่งที่สร้างความประทับใจ อย่างมากในค่าย 6 สถาบันครั้งนี้ คือการได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แม้ว่าหลายคนจะมาจากต่างภูมิภาค และอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างราบรื่น และสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างแน่นแฟ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า และจะถูกจดจำไว้ในความทรงจำตลอดไป”

ศิวัฒน์ ศรีหารักษา (คิว)

อภิวัฒน์ ไต่ตาม (เจมส์) นักศึกษาสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ชั้นปีที่ 3 กล่าวในฐานะลูกค่ายว่า “ค่าย 6 ไม่ใช่แค่กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เจมส์ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม และภาษา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนต่างสถาบันช่วยเปิดมุมมอง สร้างความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากกิจกรรมในฐานต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความสนิทสนมกับเพื่อนในกลุ่มแล้ว กิจกรรมสันทนาการก็เป็นอีกความประทับใจ เจมส์ในฐานะสันทนาการ แม้จะกดดันเพราะไม่ได้มีแค่มหาลัยเรา แต่ยังมีเพื่อนจากมหาลัยอื่น ๆ พร้อมที่จะร่วมทำกิจกรรมกับเรา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี และยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนด้านภาษากับน้อง ๆ ม.อ. ปัตตานี ซึ่งเป็นสิ่งที่เจมส์ชอบมาก เพราะกำลังเรียนภาษาอินโดนีเซีย น้อง ๆ ช่วยสร้างความมั่นใจให้เจมส์กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ และค่าย 6 เป็นเหมือนพื้นที่อบอุ่นที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ เจมส์ประทับใจในความตั้งใจ ของเจ้าภาพที่ดูแลทุกคน ทำให้ได้เรียนรู้คุณค่าของการทำงานเพื่อส่วนรวม ค่ายไม่ได้จบลงแค่กิจกรรมสิ้นสุด แต่ความทรงจำ และมิตรภาพจะคงอยู่ตลอดไป การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อน ๆ สร้างความหมายและจะเป็นแรงผลักดันในชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต”

อภิวัฒน์ ไต่ตาม (เจมส์)

นอกจากนั้นค่าย 6 สถาบันยังได้จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา เพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนนครหลวง (พิบูลประเสริฐวิทย์) โดยมียอดผ้าป่าจำนวนทั้งสิ้น 100,143 บาท และมีการแสดงแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค โดยจัดการแสดงที่บริเวณด้านหน้าปราสาทนครหลวง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่อันทรงคุณค่า  ทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีความคล้ายคลึงกับปราสาทในแบบขอมโบราณ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมที่เข้ามามีบทบาทในสมัยนั้น สำหรับเจ้าภาพครั้งต่อไปคือ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ข่าว: กิตติชัย  กองแก้ว

ภาพ: Facebook Fanpage ค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 6 สถาบัน และ HUSO KKU Photo club

Scroll to Top