เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแฟชั่นระดับโลก! กับ แฟชั่นโชว์ “อีสานโชว์พ(ร)าว” Isan Soul Proud Fashion Show ที่ไม่เพียงแต่ดึงความงดงามจากอัตลักษณ์อีสานมาผสานกับงานดีไซน์ร่วมสมัยจาก Top 10 ดีไซเนอร์อีสาน แต่ยังสร้างความฮือฮาด้วยการนำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นโชว์ครั้งแรกของโลก! ในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 6 ก.ค. 2568
ในโชว์สุดอลังการครั้งนี้ นอกจากการเดินแบบโดยมนุษย์จริง ยังมี โมเดล AI ร่วมโชว์ผ่านจอเสมือนจริงที่เทคโนโลยี AI ได้ถูกนำมาใช้ทั้งในการสร้างภาพเสมือนของวัฒนธรรมอีสาน การสร้างองค์ประกอบศิลป์ที่เกิดจากการประมวลผลตรวจจับลวดลายผ้าอีสานจากชุดนางแบบ การประมวลผลตรวจจับเนื้อทำนองเสียงจากการแสดงดนตรีอีสานร่วมสมัยเพื่อเสริมประสบการณ์ให้ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น ที่ช่วยยกระดับผลงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นถิ่นให้มีชีวิตใหม่บนเวทีโลก
ผลงานในครั้งนี้พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ นำโดยทีมอาจารย์ที่ปรึกษา ศ.ดร. วนิดา แก่นอากาศ และ ผศ.ดร. ธนัชพร กิตติก้อง และนักศึกษาจากสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ นายปริญญา ชาบุญเรือง นายณภัทร ผดุงกิจ นายกวิน พาโคกทม นายพิสิษฐ์ ศรีชำนาจ นายศุภวุฒิ นาเมืองรักษ์ นายธีร์ธวัช คำยิ่ง และ สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ นางสาวณหทัย บุญเหมาะ นางสาวนาฎชนก บรรดิษฐ นายภูมิภัทร คุ้มคำแหง นายณาณวัฒน์ จันทร์ยิ้ม และได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลวัฒนธรรมอีสานจาก ผศ. ดร.กันยารัตน์ เควียเซ่น สาขาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ นางสาวณัฐณิชา มณีพฤกษ์ สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาจารย์พชร วงชัยวรรณ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา
ศ.ดร. วนิดา แก่นอากาศ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และการต่างประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า “นี่คือครั้งแรกที่เราเห็นการใช้ AI ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ขยายขอบเขตไปสู่ศิลปะ วัฒนธรรม และแฟชั่น การที่ AI สามารถเข้าใจอัตลักษณ์ของผ้าอีสาน และแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้กลายเป็นงานศิลป์ร่วมสมัยบนรันเวย์ คือการสะท้อนว่า เทคโนโลยีไม่ได้มาแทนที่ศิลปะ แต่สามารถเสริมพลังให้ศิลปะเข้าถึงโลกยุคใหม่ได้มากขึ้น”
งานนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการ ส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมหัตถกรรม ศิลปะ และการออกแบบ ของไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนในระดับสากล พร้อมตอกย้ำว่า “อีสาน” ไม่ใช่แค่รากวัฒนธรรม แต่คือ ต้นกำเนิดของนวัตกรรมแฟชั่นแห่งอนาคต