นักศึกษา มข. ลงพื้นที่บ้านสาวะถี สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “สังสินไซ” ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจยั่งยืน

สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น นำนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่พัฒนาชุมชนบ้านสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ “สังสินไซ” ตามแนวคิด BCG เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา

กิจกรรมในครั้งนี้ทีมนักศึกษา “สาวะถี X GEN Z” ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนที่กลุ่มชุมชนบ้านสาวะถี โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับสมาชิกชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความยั่งยืนผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น

 
โครงการได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์สุริยา ไตรยราช คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกานดา นาคะปักษิณ ที่ปรึกษาโครงการ ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการเศรษฐกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
 

ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นการออกแบบและตัดเย็บของที่ระลึกจากเศษผ้าพิมพ์ลายอัตลักษณ์วรรณคดีเรื่อง “สังสินไซ” โดยยึดหลักการเศรษฐกิจแนวใหม่ BCG (Bio-Circular-Green) ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แนวคิดนี้เน้นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด สร้างนวัตกรรมใหม่ที่ก่อให้เกิดรายได้และเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน พร้อมคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดตามแนวคิด Zero-Waste

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์สุริยา ไตรยราช คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยนำเอาตัวละครหลักจากวรรณคดีเพชรน้ำหนึ่งเรื่อง “สังสินไซ” มาเป็นแรงบันดาลใจ ได้แก่ ท้าวสินไซ ท้าวสังข์ทอง และท้าวสีโห มาออกแบบและตัดเย็บให้เป็นของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใช้สำหรับจำหน่ายภายในกลุ่มชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

“การออกแบบผลิตภัณฑ์ครั้งนี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งได้นำตัวละครหลักจากวรรณคดีเพชรน้ำหนึ่งเรื่อง “สังสินไซ” ได้แก่ ท้าวสินไซ ท้าวสังข์ทอง และท้าวสีโห มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบและตัดเย็บให้เป็นของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใช้สำหรับจำหน่ายภายในกลุ่มชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ คาดว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นในระยะยาวต่อไป”

พี่เลี้ยงกลุ่ม: นางเอื้องฟ้า วรรณสิทธิ์ และ นางสาวกนกวรรณ รัตน์สุวรรณ์
ภาพ : นักศึกษาทีม สาวะถี X GAN Z
ข่าว : วรรณวิษา ธนาจินตวิทย์
Scroll to Top