วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience : TNDR) เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่ามกลางเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เข้าร่วมระดมสมองประเมินความเสี่ยงและวางแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต
ในการนี้ ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมระบุว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แตกต่างกันอย่างมากในระยะเวลาและพื้นที่ใกล้เคียงกัน เช่น พายุที่รุนแรงมากจนต้นไม้ล้มและเกิดไฟฟ้าดับในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่พื้นที่นอกรั้วมหาวิทยาลัยกลับไม่มีผลกระทบ แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความแตกต่างของภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทั้งภัยแล้ง อุทกภัย ตลอดจนแผ่นดินไหว ดังนั้น การประชุมในวันนี้ที่มีทุกภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนกันทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์การทำงานจริงทั้งจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐจะช่วยให้เกิดมิติใหม่ของการร่วมมืออย่างยั่งยืน และสามารถสร้างแผนการรับมือภัยพิบัติทุกด้านให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้กล่าวทักทายและต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมว่า แนวโน้มของภัยพิบัติในประเทศไทยที่เกิดขึ้นถี่ขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการรับมือภัยพิบัติ ดังนั้น ในวันนี้จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาต้อนรับทุกท่านเพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นก้าวสำคัญที่จะรับมือกับภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหายในระยะยาว
สอดคล้องกับ ดร.สุทัศน์ วีสกุล รองประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติ ที่ระบุว่า การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคปฏิบัติและภาควิชาการ ในการสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติในภาคอีสาน โดยการนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาบูรณาการกับการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ และการพัฒนาบุคลากรผ่านการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง จะเป็นกุญแจสำคัญในการหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และสร้างความปลอดภัยและความยั่งยืนให้กับภูมิภาคนี้
“เนื่องจากความซับซ้อนของภัยพิบัติ ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานเพียงแห่งเดียว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้พลังของเครือข่ายในการทำงานร่วมกันและสร้างความเข้าใจร่วมกัน”
สำหรับบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีตัวแทนเครือข่ายจากองค์กรจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 10 หน่วยงาน พร้อมกับตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการจาก 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทั้งนี้ รศ.ดร.กิตติเวช ขันติยวิชัย ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย “ระบบอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์” ตัวช่วยแก้ภัยแล้ง-ลดผลกระทบน้ำท่วมที่ดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมรับมือภัยพิบัติที่ใช้ได้จริงและเห็นผล ขณะเดียวกันยังได้นำเสนอแนวคิดการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการรับมือภัยพิบัติที่สามารถมอบประกาศนียบัตรหรือเทียบหน่วยกิตได้ เพื่อเป็นการยืนยันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้เข้ารับการอบรม และสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย