ยิ่งใหญ่! สงกรานต์ มข.2568 สืบสานวัฒนธรรมอีสานจัด “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส”

วันพุธที่ 9 เมษายน 2568 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส” ประจำปี 2568 อย่างยิ่งใหญ่ ณ คุ้มศิลปวัฒนธรรม ริมบึงสีฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานประเพณีฮีตสิบสอง สะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งการจัดงานในปีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากยูเนสโกประกาศรับรอง “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาประเพณีไทย โดยเฉพาะงานบุญเดือนห้า ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของภาคอีสานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นยึดถือและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเย็น จากการประกวดตบประทาย (ก่อเจดีย์ทราย) พิธีสะเดาะเคราะห์ 12 นักษัตร พิธีสรงน้ำพระ และพระธาตุพนมจำลอง รวมถึงพิธีจุดธูปเทียนและกล่าวคำบูชาหลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข. โดยมีผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยร่วมประกอบพิธีอย่างพร้อมเพรียงทั้ง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัย, รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงประชาชนทั่วไปรวมกว่า 1,000 คน ที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในวันนี้อย่างอบอุ่น

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า เป็นงานบุญที่สนุกแบบเป็นระเบียบ ให้เกียรติกันตามสิทธิมนุษยชน และอยู่ในครรลอง ซึ่งแน่นอนว่า ชื่องานบุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส ก็จัดขึ้นเพื่อเป็นโอกาสให้ทุกคนได้ระลึกถึงสิ่งที่ทำมาแล้วและขอขมาต่อสิ่งต่าง ๆ ในอดีตจากผู้หลักผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันปีนี้ยังยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะเต็มไปด้วยขบวนแห่พระจากทุกคณะและหน่วยงานที่มาร่วมม่วนไปด้วยกันในวันนี้

ภายหลังจากพิธีสำคัญ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ชื่นชมความตระการตาผ่านขบวนแห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส และขบวนแห่นางสังขานจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันความงดงามอันสะท้อนพลังของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงเป็นการ “อนุรักษ์” หากแต่เป็นการ “สร้างสรรค์” ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ร่วมสมัยอย่างงดงาม พร้อมผลักดันให้ มข. เป็นศูนย์กลางแห่งคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ตามมาด้วยพิธีรดน้ำขอพรผู้อาวุโส การทำบุญตักบาตรดอกไม้ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน โดยเครือข่ายหมอลำเรื่องต่อกลอน สร้างบรรยากาศอบอุ่นเปี่ยมสะท้อนความเป็น “ถิ่นอีสาน” ได้อย่างภาคภูมิ

Clara Ancilia Pramita Kusumasri และ Afif Ihza Abdala นักศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ รวมถึง Aye Chan Soe นักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกหลังจากได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลสุดยิ่งใหญ่นี้ว่า รู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลที่สนุกสนานและยิ่งใหญ่ขนาดนี้ นับเป็นครั้งแรกของพวกเราที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยและในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ในบ้านเราไม่ได้มีกิจกรรมท้องถิ่นแบบนี้ วันนี้ได้มาสัมผัสกับกิจกรรม พิธีการ และร่วมเดินขบวน ทำให้ได้ซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี และสนุกมาก ๆ ประทับใจการแต่งกายของทุกคนที่สุด และรู้สึกดีใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดกิจกรรมนี้ให้ทั้งบุคลากรและนักศึกษาได้มาร่วมสนุกไปด้วยกัน และหวังว่าปีหน้าจะได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้อีกครั้ง”

 

รับชมภาพเพิ่มเติม : บรรยากาศงานบุญเดือน 5 แห่พุทธบูชาสมมาอาวุโส ปี 2568

ภาพ : นายอรรถพล ฮามพงษ์, นายณัฐวุฒิ จารุวงศ์

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค

KKU Songkran Festival Shines Bright: A Fusion of Tradition, Culture, and Creativity

https://www.kku.ac.th/19433

เลื่อนไปด้านบน